Sunday, February 12, 2017

วิธีแก้อาการประหม่า ตื่นเต้น มือสั่น ใจสั่น ก่อนขึ้นพูดบนเวที

 สวัสดีครับทุกท่าน สำหรับใครที่ไม่ค่อยได้ออกมานำเสนองาน หรือออกมาพูดในที่ชุมชนบ่อยมากนัก มักจะเจอปัญหาเวลาได้รับเชิญออกมาพูดเสมอ นั่นก็คือ "ความประหม่า" อาการที่เกิดขึ้นจากความประหม่า หรือความตื่นเต้น ก็จะแสดงอาการออกมาได้หลายอย่างน่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นคอแห้ง หายใจเร็วและถี่ มือเย็น มือสั่น ใจสั่น พูดติดๆ ขัดๆ เสียงสั่น อาการเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายของเราหลั่งสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมา ทำให้เรามีพลังในร่างกายเพิ่มขึ้นจะล้นจนทำให้ร่างกายแสดงปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้ออกมา

สำหรับวันนี้ทางทีมงานมีเทคนิคดีๆ ที่ใช้ลดความตื่นเต้น แก้อาการประหม่า ก่อนที่จะขึ้นพูดบนเวทีหรือบรรยายข้อมูล มาแชร์ให้กับเพื่อนๆ ได้ลองนำไปทดลองทำดูน่ะครับ วิธีเหล่านี้อาจจะช่วยลดอาการประหม่าลงได้บ้าง ใครทดลองทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไรก็เขียน comment บอกกันบ้างน่ะครับ เพื่อนๆ คนอื่นจะได้ลองทำตาม หรือถ้าใครมีวิธี หรือ เทคนิคดีๆ ในการที่จะช่วยลดความประหม่าก็อย่าลืมนำมาบอกเพื่อนๆ ด้วยน่ะครับ เรามาดูเทคนิคต่างๆ กันเลยครับ

วิธีแก้อาการตื่นเต้น ประหม่า มือสั่น ใจสั่น ก่อนขึ้นพูด

ฝึกการหายใจลึกๆ: สารอะดรีนาลีนที่หลั่งออกมาจะทำให้เราหายใจเร็วและหายใจไม่ลึก ดังนั้นให้เราพยายามฝึกควบคุมการหายใจให้ลึกๆ ไว้ เมื่อเราหายใจเข้าลึกๆ จะทำให้สมองได้รับออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้ใจเราสงบลงได้ และอีกอย่างยังช่วยป้องกันไม่ให้เสียงเราสั่นด้วย เพราะโดยปกติแล้วที่เสียงเราสั่นเกิดจากการที่การหายใจของเราไม่เป็นปกติ

ดื่มน้ำ: อะดรีนาลีนยังส่งผลทำให้เราคอแห้ง ดังนั้น หากเราต้องบรรยายหรือพูดนานๆ ควรหาน้ำดื่มเตรียมเอาไว้จิบเป็นระยะด้วยน่ะครับ แนะนำว่าควรเป็นน้ำเปล่าที่ไม่แช่เย็น และควรจิบแต่พอดีอย่าดื่มมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ปวดปัสสาวะได้

การยิ้ม: โดยธรรมชาติแล้วการยิ้มเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายของเราผ่อนคลาย เมื่อร่างกายผ่อนคลายก็จะปล่อยสารที่ทำให้เรามีพลังทางบวกออกมา ผมลองทำดูแล้ว ทำอะไรไม่ถูกก็ยิ้มไว้ก่อนครับ 555

ใช้เทคนิคการจินตนาการ: ให้คิดวาดภาพในใจว่าเรากำลังที่จะนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ฟังที่กำลังสนใจ ตื่นเต้นกับข้อมูลที่เรากำลังพูด ยิ้มแย้มแจ่มใส และแสดงออกเป็นบวกกับเรามากๆ ให้นึกภาพนี้เอาไว้ให้มั่น จากนั้นให้นึกถึงภาพนี้ก่อนที่เราจะเริ่มนำเสนอ

นวดขมับและหน้าผาก: ช่วยกระตุ้นสมองส่วนและซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการพูด

ก่อนที่จะเริ่มพูด ให้หยุดนิดนึงก่อน สบตาผู้ฟังและยิ้มอย่างเป็นมิตร: ใช้เวลาตรงนี้เพื่อที่จะผ่อนคลายและช่วยให้เราปรับตัวก่อนระหว่างที่ผู้ฟังกำลังหันมาสนใจเรา ก่อนที่เราจะเริ่มพูด

พูดให้ช้าลงกว่าปกติเล็กน้อย: ระหว่างที่พูด ให้เว้นวรรคคำพูดแต่ละประโยคให้นานขึ้นอีกนิด ไม่ต้องรีบพูด วิธีนี้จะทำให้เราลดอาการประหม่าและอาการตื่นเต้นลงได้ และทำให้ผู้ฟังได้ยินคำพูดของเราได้ชัดขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องบรรยายในห้องประชุมที่กว้างๆ

เดินรอบๆ เวทีระหว่างที่พูด: ระหว่างที่เรากำลังพูดหรือบรรยาย หากมีพื้นที่บริเวณที่เรายืน สามารถเดินไป-มา เพื่อใช้พลังงานในร่างกายเรา ทำให้ลดอาการมือสั่น ใจสั่น ลงได้บ้าง

หยุดคิดไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง: เลิกคิดและจินตนาการในทางไม่ดีให้แก่ตัวเอง เช่น ฉันทำไม่ได้แน่ๆ ฉันต้องสั่นแน่ๆ ฉันต้องพูดไม่ได้ ฉันต้องเป็นตัวตลก ฯลฯ ให้หยุดคิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้และมองดูผู้ฟังและคิดว่าคนเหล่านี้มานั่งเราฟังข้อมูลจากเรา และเรามีหน้าที่ที่จะต้องนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ฟังเหล่านี้ จากนั้นก็หายใจเข้าลึกๆ แล้วลุยเลย

ลองนำเทคนิคการลดและควบคุมความตื่นเต้น ความประหม่า ต่างๆ เหล่านี้ไปลองทำดูน่ะครับ ถ้าเราฝึกบ่อยๆ ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนต้องทำได้ ขอแค่เรามีความกล้าก็พอ ความตื่นเต้น เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ และมันก็ไม่ได้ทำอันตรายอะไรเรา ดังนั้นจงอย่ากลัวที่จะพูด สู้ต่อไปครับพี่น้อง ใครมีเทคนิคอะไรดีๆ ก็อย่าลืมนำมาแชร์กันน่ะครับ

สำหรับ Blog นี้ ผมทำขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของเทคนิคการพูด การนำเสนอ การพูดในที่ชุมชน ผมเองก็ไม่ได้เป็นคนเก่งอะไรมากมายน่ะครับ เพียงแต่สนใจศาสตร์ด้านการพูด ถ้าเพื่อนๆ สนใจที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันสามารถ @ มาคุยกันได้น่ะครับ



0 comments:

Post a Comment