Monday, February 20, 2017

ซ้อมพูดแบบไหน ถึงจะเก่งเหมือนโปร แนะนำการซ้อมนำเสนออย่างมืออาชีพ

สวัสดีครับวันนี้ ผมอยากมาแนะนำวิธีการซ้อมพูดนำเสนออย่างมืออาชีพ ทำให้เราพร้อมที่่จะนำเสนอได้อย่างมืออาชีพสุดๆ ไม่ว่าการนำเสนอนั้นจะเป็นการนำเสนอในที่ประชุมสำคัญๆต่างๆ หรือนำเสนอทั่วไปในชั้นเรียนก็สามารถนำไปปรับใช้ได้

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการซ้อมพูดนำเสนอก่อนน่ะครับว่ามันเป็นอย่างไร การซ้อมพูดนำเสนอคือ กิจกรรมที่เราฝึกอ่านบทหรือสคริปต์อะไรบางอย่าง เพื่อทำให้เราคุ้นเคยกับข้อมูลนั้นๆ และแน่ใจว่าสามารถพูดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ได้ทุกมิติ

สิ่งหนึ่งที่เราต้องเจอในการนำเสนอหรือบรรยายข้อมูลต่างๆ คือการที่เราจะต้องท่องจำเนื้อหาให้แม่นยำและชัดเจนก่อนที่เราจะขึ้นไปพูด ถ้าเนื้อหาที่เราจะพูดไม่มาก ประมาณ 5-10 นาที ก็คงไม่เป็นปัญหาอะไรมาก ฝึกพูดแปบเดียวก็สามารถจำได้และไปพูดต่อได้เลย แต่ถ้าเนื้อหาที่เราจะพูดมันยาวมากต้องใช้เวลาพูดถึง 2-3 ชั่วโมงล่ะ เราจะมีวิธีในการจำเนื้อหาที่จะนำเสนอได้อย่างไร?

เทคนิคการซ้อมนำเสนอขั้นเทพ

สิ่งที่ผมจะแนะนำก็คือ ขอให้เราแบ่งเนื้อหาที่จะพูดออกเป็นส่วนๆ ให้พอเหมาะ ไม่ยาว ไม่สั้นเกินไป และฝึกซ้อมไปทีละส่วน จะได้ง่ายต่อการจำด้วย หลังจากที่เราจำเนื้อหาและฝึกซ้อมแต่ละส่วนนคล่องแล้ว ให้เราทำการซ้อมใหญ่ คือการนำเสนอตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อเป็นการฝึกจำเนื้อหาทั้งหมด ดูเรื่องระยะเวลาที่ใช้ในการนำเสนอและความต่อเนื่องของเนื้อหาแต่ละส่วน

การซ้อมนำเสนอที่ดีนั้นควรจะยืนซ้อม พูดออกมาเสียงดังเสมือนกับเรากำลังนำเสนอในเวทีจริง ลองพูดในโทนเสียงที่แตกต่างกันและลองฟังดูว่าแบบไหนน่าฟัง อย่าลืมการใช้ภาษากายน่ะครับ ให้เราสังเกตุลักษณะการยืน การวางมือ ท่าทางต่างๆ ของเราด้วย

ข้อแนะนำ: ก่อนนอนให้เราลองซ้อมนำเสนอดูซัก 1-2 พอเวลาเราเข้านอน มีผลการวิจัยอันนึงบอกว่า "ข้อมูลที่เราซ้อมนำเสนอในช่วงก่อนนอนจะซึมเข้าไปในสมองส่วนลึก พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า จะทำให้เราจดจำเนื้อหาและเรียบเรียงประเด็นได้แม่นขึ้น" อันนี้ไม่แน่ใจว่าจริงแท้แค่ไหน แต่โดยส่วนตัวเท่าที่เคยลองคำดูก็รู้สึกว่าได้ผลดีน่ะ แต่เราห้ามนอนดึก สมองจะได้ปลอดโปร่ง

หลายท่านคงเคยได้ยินคำแนะนำในการซ้อมนำเสนอหลายต่อหลายครั้งน่ะครับว่าเราควร "ซ้อมการนำเสนอหน้ากระจก" จะทำให้เราเห็นภาพตัวเองเวลาซ้อม

ถ้าเป็นสมัยก่อนถือว่า OK น่ะครับในเรื่องของการซ้อมหน้ากระจก แต่สมัยนี้เทคโนโลยีมันก้าวไปเร็วมากแล้วน่ะครับ ผมแนะนำว่าท่านสามารถซ้อมที่ไหนก็ได้ แต่ขอให้ท่านบันทึกวีดีโอขณะที่ท่านซ้อมเอาไว้ด้วย ถ้าท่านซ้อมที่หน้ากระจก ท่านจะเห็นเฉพาะการแสดงออกของหน้าตาเท่านั้น แต่ถ้าท่านบันทึกวีดีโอการซ้อมของท่านๆ จะเห็นทั้งหมดเลยว่าท่านพูดจาแบบไหน ท่าทางการยืนเป็นอย่างไร มีการใช้ภาษากายมากน้อยแค่ไหน เวลาเดินไปเดินมา หรือหันไปมองผู้ฟังด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ลักษณะท่านเป็นอย่างไร จากนั้นก็นำมาปรับแก้เป็นจุดๆ ไป

เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือก็ค่อนข้างคุณภาพดีขึ้นเยอะครับ มือถือราคาไม่กี่พันก็สามารถบันึกภาพวีดีโอแบบชัดๆ ได้แล้วน่ะครับ

ก็ลองนำเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ไปลองฝึกดูน่ะครับ อาจจะทำให้การนำเสนองานหรือการพูดในที่สาธารณะของท่านครั้งต่อไปประสบผลสำเร็จตามที่ท่านตั้งเป้าหมายไว้ก็ได้น่ะครับ ผมเชื่อน่ะครับว่าการพูดเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้กันได้ ขอให้เรามาเรียนรู้ไปพร้อมกันน่ะครับ ใครมีข้อเสนอแนะอะไรดีๆ ก็อย่าลืมนำมาแบ่งปันกันได้น่ะครับ Comment บอกกันได้ด้านล่าง

หากคิดว่าโพสนี้มีประโยชน์ก็ฝากกด Like กด Share ให้ด้วยน่ะครับ พบกันครั้งหน้าน่ะครับ วันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ

Sunday, February 12, 2017

วิธีแก้อาการประหม่า ตื่นเต้น มือสั่น ใจสั่น ก่อนขึ้นพูดบนเวที

 สวัสดีครับทุกท่าน สำหรับใครที่ไม่ค่อยได้ออกมานำเสนองาน หรือออกมาพูดในที่ชุมชนบ่อยมากนัก มักจะเจอปัญหาเวลาได้รับเชิญออกมาพูดเสมอ นั่นก็คือ "ความประหม่า" อาการที่เกิดขึ้นจากความประหม่า หรือความตื่นเต้น ก็จะแสดงอาการออกมาได้หลายอย่างน่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นคอแห้ง หายใจเร็วและถี่ มือเย็น มือสั่น ใจสั่น พูดติดๆ ขัดๆ เสียงสั่น อาการเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายของเราหลั่งสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมา ทำให้เรามีพลังในร่างกายเพิ่มขึ้นจะล้นจนทำให้ร่างกายแสดงปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้ออกมา

สำหรับวันนี้ทางทีมงานมีเทคนิคดีๆ ที่ใช้ลดความตื่นเต้น แก้อาการประหม่า ก่อนที่จะขึ้นพูดบนเวทีหรือบรรยายข้อมูล มาแชร์ให้กับเพื่อนๆ ได้ลองนำไปทดลองทำดูน่ะครับ วิธีเหล่านี้อาจจะช่วยลดอาการประหม่าลงได้บ้าง ใครทดลองทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไรก็เขียน comment บอกกันบ้างน่ะครับ เพื่อนๆ คนอื่นจะได้ลองทำตาม หรือถ้าใครมีวิธี หรือ เทคนิคดีๆ ในการที่จะช่วยลดความประหม่าก็อย่าลืมนำมาบอกเพื่อนๆ ด้วยน่ะครับ เรามาดูเทคนิคต่างๆ กันเลยครับ

วิธีแก้อาการตื่นเต้น ประหม่า มือสั่น ใจสั่น ก่อนขึ้นพูด

ฝึกการหายใจลึกๆ: สารอะดรีนาลีนที่หลั่งออกมาจะทำให้เราหายใจเร็วและหายใจไม่ลึก ดังนั้นให้เราพยายามฝึกควบคุมการหายใจให้ลึกๆ ไว้ เมื่อเราหายใจเข้าลึกๆ จะทำให้สมองได้รับออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้ใจเราสงบลงได้ และอีกอย่างยังช่วยป้องกันไม่ให้เสียงเราสั่นด้วย เพราะโดยปกติแล้วที่เสียงเราสั่นเกิดจากการที่การหายใจของเราไม่เป็นปกติ

ดื่มน้ำ: อะดรีนาลีนยังส่งผลทำให้เราคอแห้ง ดังนั้น หากเราต้องบรรยายหรือพูดนานๆ ควรหาน้ำดื่มเตรียมเอาไว้จิบเป็นระยะด้วยน่ะครับ แนะนำว่าควรเป็นน้ำเปล่าที่ไม่แช่เย็น และควรจิบแต่พอดีอย่าดื่มมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ปวดปัสสาวะได้

การยิ้ม: โดยธรรมชาติแล้วการยิ้มเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายของเราผ่อนคลาย เมื่อร่างกายผ่อนคลายก็จะปล่อยสารที่ทำให้เรามีพลังทางบวกออกมา ผมลองทำดูแล้ว ทำอะไรไม่ถูกก็ยิ้มไว้ก่อนครับ 555

ใช้เทคนิคการจินตนาการ: ให้คิดวาดภาพในใจว่าเรากำลังที่จะนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ฟังที่กำลังสนใจ ตื่นเต้นกับข้อมูลที่เรากำลังพูด ยิ้มแย้มแจ่มใส และแสดงออกเป็นบวกกับเรามากๆ ให้นึกภาพนี้เอาไว้ให้มั่น จากนั้นให้นึกถึงภาพนี้ก่อนที่เราจะเริ่มนำเสนอ

นวดขมับและหน้าผาก: ช่วยกระตุ้นสมองส่วนและซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการพูด

ก่อนที่จะเริ่มพูด ให้หยุดนิดนึงก่อน สบตาผู้ฟังและยิ้มอย่างเป็นมิตร: ใช้เวลาตรงนี้เพื่อที่จะผ่อนคลายและช่วยให้เราปรับตัวก่อนระหว่างที่ผู้ฟังกำลังหันมาสนใจเรา ก่อนที่เราจะเริ่มพูด

พูดให้ช้าลงกว่าปกติเล็กน้อย: ระหว่างที่พูด ให้เว้นวรรคคำพูดแต่ละประโยคให้นานขึ้นอีกนิด ไม่ต้องรีบพูด วิธีนี้จะทำให้เราลดอาการประหม่าและอาการตื่นเต้นลงได้ และทำให้ผู้ฟังได้ยินคำพูดของเราได้ชัดขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องบรรยายในห้องประชุมที่กว้างๆ

เดินรอบๆ เวทีระหว่างที่พูด: ระหว่างที่เรากำลังพูดหรือบรรยาย หากมีพื้นที่บริเวณที่เรายืน สามารถเดินไป-มา เพื่อใช้พลังงานในร่างกายเรา ทำให้ลดอาการมือสั่น ใจสั่น ลงได้บ้าง

หยุดคิดไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง: เลิกคิดและจินตนาการในทางไม่ดีให้แก่ตัวเอง เช่น ฉันทำไม่ได้แน่ๆ ฉันต้องสั่นแน่ๆ ฉันต้องพูดไม่ได้ ฉันต้องเป็นตัวตลก ฯลฯ ให้หยุดคิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้และมองดูผู้ฟังและคิดว่าคนเหล่านี้มานั่งเราฟังข้อมูลจากเรา และเรามีหน้าที่ที่จะต้องนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ฟังเหล่านี้ จากนั้นก็หายใจเข้าลึกๆ แล้วลุยเลย

ลองนำเทคนิคการลดและควบคุมความตื่นเต้น ความประหม่า ต่างๆ เหล่านี้ไปลองทำดูน่ะครับ ถ้าเราฝึกบ่อยๆ ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนต้องทำได้ ขอแค่เรามีความกล้าก็พอ ความตื่นเต้น เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ และมันก็ไม่ได้ทำอันตรายอะไรเรา ดังนั้นจงอย่ากลัวที่จะพูด สู้ต่อไปครับพี่น้อง ใครมีเทคนิคอะไรดีๆ ก็อย่าลืมนำมาแชร์กันน่ะครับ

สำหรับ Blog นี้ ผมทำขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของเทคนิคการพูด การนำเสนอ การพูดในที่ชุมชน ผมเองก็ไม่ได้เป็นคนเก่งอะไรมากมายน่ะครับ เพียงแต่สนใจศาสตร์ด้านการพูด ถ้าเพื่อนๆ สนใจที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันสามารถ @ มาคุยกันได้น่ะครับ